ประวัติ  ชื่อบ้านนามเมือง ของอำเภอคลองท่อม
                                        คลองท่อม

คลองท่อม เป็นชื่ออำเภอของจังหวัดกระบี่  คำว่า “ คลองท่อม”  เป็นชื่อตามลำคลองสายหนึ่ง  ซึ่งต้นน้ำเกิดจากภูเขาในจังหวัดตรัง  ไหลผ่านตำบลคลองท่อมใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอคลองท่อมในปัจจุบันมีผู้ให้ความเห็นเรื่องชื่อคลองท่อมไว้ดังนี้
            ความเห็นนัยแรกกล่าวว่า  เมื่อประมาณ  100 ปีเศษ มาแล้วก่อนที่จะตั้งอำเภอที่นี้  มีไทยอิสลามกลุ่มหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินที่ริมคลองสายนี้ ต่อมาได้เกิดโรคระบาดผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก พวกที่รอดตายได้อพยพไปอยู่ในท้องถิ่นอื่น  การทิ้งถิ่นฐานเช่นนี้ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ ทุ่ม “  ซึ่งหมายความว่า “ ทิ้ง “ ลำคลองสายนี้จึงเรียกว่า “ คลองทุ่ม”  ต่อมาเมื่อนานเข้าก็เพี้ยนไปเป็น “ คลองท่อม”
            อีกความหมายหนึ่ง ก็เหมือนกับความหมายแรก  แต่ทว่าเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงเลยมานานก่อนเหตุการณ์ของความหมายแรก  คือเป็นเรื่องที่สืบทอดมาจากตำนานพื้นบ้านเรื่องควนลูกปัด (โปรดอ่านเรื่องควนลูกปัดประกอบ)  เมื่อขุนสาแหระ ทุบทำลายทรัพย์สมบัติเผาทำลายแล้วทิ้งบ้านทิ้งเมืองไป  ซึ่งภาษาชาวบ้านก็ว่า “ ทุ่มบ้านทุ่มเมือง “   บริเวณริมคลองนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองขุนสาแหระก็ถูกเรียกว่า “ คลองทุ่ม “  แล้วเลือนมาเป็น “ คลองท่อม “  ภายหลัง
            บางคนให้ความเห็นแปลกออกไปว่า  การตั้งชื่อหมู่บ้านนามเมืองโดยทั่วๆ ไปนั้น ส่วนมากจะอาศัยสภาพทางภูมิศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่าริมคลองนี้มีพืชชนิดหนึ่ง คือ  “ ต้นกะท่อม “  ขึ้นอยู่จำนวนมาก แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังพอหาได้อยู่ ชาวบ้านเรียกพืชชนิดนี้ว่า  “ ท่ม” หรือ “ ท่อม “  ลำคลองสายนี้จึงถูกเรียกว่า “ คลองท่อม “ ตามไปด้วย
            คลองท่อมอยู่ในเส้นทางโบราณของการเดินทางข้ามแหลมอีกจุดหนึ่ง  ลำคลองแต่เดิมก็กว้างและลึกมาก เรือใหญ่สามารถแล่นเข้าถึงเพราะเคยปรากฏว่าขุดพบซากเรือ  สมอเรือ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ ในคลองนี้จำนวนมาก ตามแนวทางเก่าสามารถเดินบกไปลงคลองสินปุน
ออกแม่น้ำหลวง ( แม่น้ำตาปี ) หรือแยกที่ทุ่งใหญ่ไปนครศรีธรรมราชได้  นักโบราณคดีเองก็ยังไม่แน่ใจนักว่า ตำแหน่งพิกัดในแผนที่ปโตเลมี  ถึงชื่อ “ ตักโกลา “  นั้นอาจจะเป็นได้ทั้งที่    ตะกั่วป่าหรือคลองท่อมก็เป็นได้

                                            ควนลูกปัด
                        ควนลูกปัด  เป็นเนินควนเล็ก ๆ  ห่างจากวัดคลองท่อมไปตามลำคลองไม่ไกลนัก เข้าใจกันว่าเคยเป็นที่ตั้งแหล่งชุมชนคลองท่อมเดิม แต่จะมีชื่อเรียกว่าอย่างไรในสมัยนั้นยังไม่ทราบได้ แต่สิ่งหนึ่งที่นักโบราณคดียอมรับกันก็คือ บริเวณคลองท่อมนี้มีร่องรอยเส้นทางเดินโบราณข้ามแหลมจากฝั่งตะวันตกไปสู่ตะวันออก โดยจากคลองท่อมสามารถขนถ่ายสินค้าไปลงคลองสินปุน ออกแม่น้ำหลวง (ตาปี) ไปเวียงสระออกอ่าวบ้านดอน แล้วเลียบฝั่งทะเลลงไปถึงนครศรีธรรมราชได้ หรือจากควนลูกปัดไปออกทุ่งใหญ่ ทุ่งสง ร่อนพิบูลย์ แล้วไปนครศรีธรรมราช หรือจะแยกที่ทุ่งใหญ่ขึ้นไปทางฉวาง ลานสกาต่อไปนครศรีธรรมราช           หลักฐานต่าง ๆ ที่พบบริเวณควนลูกปัดได้แก่เครื่องมือหิน เครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดและอื่น ๆ ส่วนมากมักชำรุด ส่วนในลำคลองก็เคยมีการขุดพบซากเรือ สมอเรือ  และเครื่องมือ เครื่องใช้อื่น ๆ เช่นกัน วัตถุที่ขุดได้เหล่านี้มีอายุนับพันปี เชื่อกันว่าชุมชนบริเวณนี้จะทำหน้าที่เป็นท่าเรือที่สำคัญที่เป็นประตูฝั่งทะเลตะวันตก
                วัตถุโบราณที่พบมีตั้งแต่ยุคหินกลางเป็นต้นมาตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการพัฒนาของชุมชนโบราณแห่งนี้ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ และเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ประเทศไทย การประสมประสานทางวัฒนธรรมในยุคเริ่มแรกทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ตลอดมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะการพบอักษรปัลลวะรุ่นเก่าที่สุดในประเทศในขณะนี้ (พุทธศตวรรษที่ 10) นั้นย่อมเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีนี้ได้ดี และการพบวัตถุโบราณอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า แหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะเป็นสถานที่ติดต่อกับอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 5 ตามอายุที่ปรากฎในมิลินทปัญหาได้เป็นอย่างดีด้วยแล้วก็ยิ่งเพิ่มความสำคัญของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นทวีคูณ
                   ที่เกาะคอเขาจังหวัดพังงาและควนลูกปัด มีลักษณะเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งผลิตสินค้า เช่น ลูกปัด หรือตลาดสินค้าที่พักสินค้าเท่านั้น ไม่พบโบราณสถานที่จะชี้ว่าเป็นแหล่งถาวร แหล่งโบราณคดีทั้งสองมีโอกาสที่จะเป็น “ตักโกละ” ศูนย์กลางการค้าในสมัยโบราณได้อย่างไม่มีปัญหา
                    จากการสันนิษฐานของนักโบราณคดีกล่าวว่า ควรลูกปัดน่าจะเป็นเมืองท่าค้าขายมาหลายสมัยสมัยเก่าสุดอาจถึงพุทธศวรรษที่ 6-8 และน่าจะเป็นชุมชนเมืองท่าเจริญรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ 10-12 สินค้าสำคัญคือเครื่องแก้ว ลูกปัด เครื่องประดับ และมีแหล่งผลิตอยู่ที่นี่อีกด้วย
                    จากการพบแผ่นอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีข้อความต่าง ๆ กันที่น่าในใจ เช่น แเผ่นที่อ่านว่า “ทาตวย” แปลว่า “ควรให้ สมควรให้ จงให้” คิดว่าน่าจะเป็นตราประทับในการติดต่อค้าขายหรือให้สิทธิในการการกระทำอะไรบางอย่างในเชิง “อนุมัติ” หรือ “ผ่านได้” เป็นต้น
                    ตำนานพื้นบ้านที่เล่ากันถึงเรื่องราวบริเวณนี้ได้แก่เรื่อง ขุนสาแหระ มีเรื่องเล่าว่า ขุนสาแหระตั้งบ้านเมืองอยู่ตรงนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วย ทรัพย์สินเงินทอง ประชาชนอยู่กันอย่างเป็นสุข การทำมาค้าขายเจริญดี กลางวันกลางคืนก็สนุกรื่นเริงด้วยเสียงดนตรีปี่ประโคม  เจ้าเมืองมีแต่ธิดาผู้สวยงามเพียงคนเดียว ขุนสาแหระรักหวงมากไม่ยอมให้นางไปไหนหรือพบปะกับใคร ในที่สุดธิดา ก็ทำงามหน้าโดยไปรักชอบได้เสียกับหนุ่มคนใช้ในสำนัก  ทำให้ขุนสาแหระเกิดความอับอายขายหน้า  จากความรักกลายเป็นความโกรธขึ้น  เป็นทวีคูณ จึงให้จับธิดาและชายหนุ่มขังไว้ในอุโมงค์ ด้วยความแค้นใจขุนสาแหระได้ทุบทำลายสมบัติพัสถานต่าง ๆ ลงอย่างยับเยิน พร้อมทั้งจุดไฟเผาผลาญไปพร้อมกับธิดาและชายหนุ่ม  เมื่อเป็นว่าบ้านเมืองพินาศลงแล้ว ก็อพยพพาผู้คนเดินทางไปทางทิศตะวันออก… แต่ตามเรื่องมิได้ระบุว่าขุนสาแหระไปสร้างอยู่ ณ  ที่ใดอีก
                  ข้อที่น่าพิจารณาตามแนวนิทานก็คือ  วัตถุที่ค้นพบยกเว้นลูกปัดมักจะชำรุดเกือบทั้งสิ้น  และถ้าขุดดินลงไปลึกๆ ก็จะเห็นว่าที่ดินบริเวณนี้ดูเหมือนเคยถูกไฟไหม้มาแล้วในอดีตเช่นเดียวกัน
                  เหตุการณ์อื่น ๆ  ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในบริเวณนี้คือ  ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่าพระยาศรีธรรมโศกราช (เดิมชื่อพราหมณ์มาลี)  พร้อมบ่าวไพร่ผู้คนลงเรือมาขึ้นที่ตำบลทุ่งตึก  จังหวัดพังงา เมื่อพุทธศักราช 1006  สร้างเมืองตะกั่วป่าขึ้นแต่ยังไม่สำเร็จ ถูกข้าศึกรุกร้านก็อพยพข้ามเขาศกมาทางตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างเมือง “ ธาราวดี”  ขึ้นที่บ้านน้ำรอบ  ต่อมาเกิดไข้ห่าอย่างรุนแรง  จึงอพยพต่อไปทางตะวันตกเฉียงใต้ตั้งเมืองชั่วคราว ขึ้นที่เขาชวาปราบ  (ไม่ห่างควนลูกปัดมากนัก)  ไข้ห่าก็ยังตามมารังควาน ก็อพยพไปตั้งเมืองเวียงสระแต่ก็อยู่ไม่ได้อีก  จึงอพยพผู้คนไปทางฝั่งตะวันออก ก็ตั้งทำเลอยู่ ณ  หาดทรายแก้ว… คือเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน
                  ควนลูกปัดจะมีชื่อว่าอย่างไร  ยังไม่สามารถที่จะหาหลักฐานได้ ถ้าจะดูอายุของวัตถุต่างๆ แล้วก็มีอายุเป็นพันปี  ชุมชนนี้ร้างไปเพราะเหตุใดก็ไม่มีสาเหตุแน่ชัดเช่นเดียวกัน  แต่ถ้าพิจารณาตามสภาพแวดล้อมเห็นจะเป็นเพราะโรคห่าเสียมากกว่า  แม้แต่เมืองนครศรีธรรมราชเองก็ร้างไปเพราะโรคนี้ตั้งหลายครั้ง
                  พระครูอาทรสังวรกิจ  เจ้าอาวาสวัดคลองท่อมกล่าวถึงอานุภาพของลูกปัดโบราณ ตามความเชื่อในความหมายของสีลูกปัด แต่ละชนิด ดังนี้
                  1. สีฟ้า   เนื้อกษัตริย์แท้  ใครมีไว้ครอบครองแสดงว่าผู้นั้น ในอดีตชาติมีวาสนาสูง มักจะได้สมประสงค์ทั้งชาติด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์และชื่อเสียง
                               2. สีเหลือง มีเมตตามหานิยม มีเสน่ห์ มีมานะ ดีทางค้าขาย ไปไหนมาไหนคนไม่เกลียดชัง
                               3. สีน้ำเงิน เนื้อกษัตริย์ทั้งน้ำเงินแก่และอ่อน ส่งเสริมวาสนาปัจจุบันให้สูงขึ้น มักจะทำให้ร่ำรวยในปัจจุบัน เช่นการเสี่ยงโชค
                  4. สีอิฐมันปู อยู่ยงคงกระพันชาตรีจากเครื่องศาสตราวุธและเขี้ยวงา
                              5. สีดำ ป้องกันภูตผีปีศาจ ป้องกันโรคระบาด ป้องกันอุบัติเหตุ ป้องกันเขี้ยวงา ป้องกันไสยศาสตร์เดรัจฉานวิชา
                  6. สีเขียวหยก มักชักเงินทองและสิ่งของให้เข้าบ้านเรือนของตนเองอยู่เสมอมิได้ขาด เป็นมหามงคลอันอุดม
                  7. สีขาวใสน้ำแก้ว เปรียบประดุจเพชรน้ำหนึ่ง ผู้ใช้มีผิวพรรณวรรณะผ่องใส ป้องกันหญิงชายเจ้าชู้ทั้งหลาย
                  8. สีขาวกำไรหยก ทำให้อายุมั่นขวัญยืน ผู้ใดมีไว้ครอบครองมักจะไม่เจ็บไข้
                  9. แสลนหลายสี เป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูลในอดีตชาติ ปัจจุบันชาติ ถ้าใครมีไว้แสดงว่าในอดีตชาติเคยเป็นผู้ดีมาก่อน
                  10. เฟินแสลนแบบฟันเฟืองหรือเบอร์ 1 ผู้ใดมีไว้กันผัวมีเมียใหม่ เมียมีชู้และเล่นถั่วโปเสี่ยงการพนันมักได้ผลอยู่ตลอดเวลา
                  11. แสลนขนเม่นหัวดำท้ายดำกลางขาวเนื้อแท้ ใครมีไว้ครอบครองป้องกันหอกดาบแหลนหลาวธนูหน้าไม้และเก่งในการชกมวย ตีคลี สกา พนันต่าง ๆ
                  12. แสลนหัวเทียม หัวดำ ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง เมื่ออธิษฐานจะเป็นเหตุให้เกิดไหวพริบปฏิภาณเฉลียวฉลาดหยั่งรู้เท่าทันคน
                  13. อำพันทองสีมันปูชนิดลูกอม ใครมีไว้ไปไหนมาไหนอธิษฐานแล้วอมไม่หิวน้ำ และอยู่ยงคงกระพันชาตรี หมัดไม่เข้า งูอ้าปากไม่ขึ้น ตะขาบแมลงป่องต่อยไม่เจ็บและสามารถดูดพิษสัตว์
                  14. อำพันชนิดร้อยเป็นเม็ดสีมันปู ใช้ผูกบั้นเอวแบบตะกรุดเป็นเครื่องรางป้องกันโรคนิ่ว ไตพิการ ไข้ป่วง ตับขึ้น ปอดขึ้น
                  15. หยกสีเขียวแก่อมเลือด เมื่อใส่แล้วป้องกันภูตผีปีศาจ โรคไข้ตาแดง ตาต้อ น้ำตาไหล
                  16. สีส้มหรือสีทับทิม เป็นเหตุให้เลื่อนยศฐาบรรดาศักดิ์ เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป มีทั้งเมตตามหานิยมในตัว
                  17. สีบุษราคัมทั้งสีแก่และอ่อน เมื่อใส่ไปไหนมาไหนเทวดาอารักษ์จะช่วยปกปักรักษา
                  18. สีมรกตและสีแดงเข้ม เป็นเหตุให้มีอำนาจดังพระยาราชสีห์ ไปไหนมาไหนโจรผู้ร้ายและคนพาลไม่กล้าทำร้ายเรา
                  19. สีม่วงทั้งสีแก่และอ่อนหรือสีแสดแซม ไปไหนมาไหนมีแต่คนสงสาร ทำให้ผู้อื่นนำทรัพย์สินข้าวของเครื่องใช้มาอุปถัมภ์ และส่งเสริมวาสนาบารมีของเราให้ดียิ่งขึ้นไป
                   ลูกปัดทั้ง 19 สีถ้าใครมีไว้ครอบครองผู้นั้นจะไม่ตกทุกข์ยาก แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง และส่งเสริมบารมีให้แกร่งกล้า ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ

                                (คัดจาก “ ประวัติ ตำนาน นิทาน ความเชื่อเกี่ยวกับชื่อบ้าน นามเมือง จังหวัดกระบี่และฝั่งทะเลตะวันตก “  กลิ่น  คงเหมือนเพชร  ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกระบี่)